หากย้อนไป 10 ปี
ผมมีกางเกงยี่ห้อเดียวที่ใส่ประจำคือ LEVI STRAUSS & CO. กางเกงยีนส์เก่าแก่สายพันธุ์อเมริกัน
คนที่เล่น Levi's เข้ากระดูกถ้าไม่ถูกปลูกฝังก็เข้าขั้นหลงใหลหรือเกิดและเติบโตข้างแค้มป์จีไอ
(ทหารอเมริกัน)
ผมเป็นพวกหลัง คือเกิดทันแค้มป์ที่โคราช ผลิตภัณฑ์
Levi's Converse Layban จึงติดตัวติดตามาตั้งแต่เด็ก
ผูกพันเป็นใยยาวจนอายุปาเข้ากลางคนยังซุกซนกับ Levi's เช่นเดิม
แต่วันหนึ่งก็แปรผันจากสายพันธุ์ต่างชาติ
ผมหมกหมุ่นอยู่กับกางเกงไทยในนาม "Indigoskin"
ในช่วงเวลา 10
ปีที่ผ่านมา ผมได้กางเกงยีนส์มาตัวหนึ่งจากคุณน้อย (สุรินทร์ สนธิระติ)
ที่กลางดงเมาเทนวิว อ.ปากช่อง คุณน้อยยื่นยีนส์ใหม่เอี่ยมให้ผมตัวหนึ่ง
บอกว่าลองเอาไปใส่ หลานทำออกมาขาย
(หมายถึงลูกชายคนโตของคุณน้อยเป็นผู้ออกแบบและผลิต)
จากวันนั้นถึงวานนี้ผมติดกางเกงตัวนี้มาก
พามันเดินทางท่องเที่ยวไปทั่ว ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
มันกับผมพากันเดินทางผันผ่านหลายประเทศ หลายภูมิภาค หลายอากาศ หลายอารมณ์ เช่น
ปักกิ่ง กวางโจว จูไห่ มาเก๊า เกาหลีใต้ไปจรดชายแดนเกาหลีเหนือ
หรือเข้าไปอยู่ในเมืองกาฐมัณฑุ เมืองโภคราของเนปาล
สุดท้ายปลายทางพามันไปตากหิมะกับอุณหภูมิติดลบ 22 องศาที่เกาะฮอกไกโด
ญี่ปุ่น
มันไปกับผม ผมไปกับมัน กระทั่งความเข้มซีดด่าง
จืดจางลงเป็นลำดับ รอยยับย่นข้นได้ที่
หลังกลับจากญี่ปุ่นผมมีโอกาสใส่มันอีกครั้งเดียว จากนั้นไม่ได้เจอหน้ากันอีกเลย
หลังจากพายีนส์คู่ใจไปท่องโลก
กลับจากญี่ปุ่นผมแวะไปหา "ตะกร้อ" หรือธัชวีย์ สนธิระติ ผู้ออกแบบ
ผู้สร้างสัญลักษณ์ ผู้คิดโปรเจคต์
และทำอะไรเกือบทั้งหมดเกี่ยวกับยีนส์ที่เขาเรียกมันว่า Indigoskin
วันนั้นทักทายกันพอหอมปากหอมคอ ในฐานะอากับหลาน
ในวิญญาณพี่กับน้อง เขาเห็นกางเกงที่ห่อท่อนล่างของผม เขายิ้ม
จากนั้นส่งเสียงแกมบังคับให้ผมถอดกางเกงออก ถอดเพื่อเก็บเข้ากรุ เอาไว้ดิสเพลย์ร้านหรือจัดงานในอนาคต
ปรากฏว่าผมได้กางเกงตัวใหม่กลับบ้าน
ก่อนจากลาตะกร้อบอกผม "พี่ปลาเอาไปปั้นหน่อย"
เป็นอันเข้าใจกันในสายยีนส์ว่าปั้นหมายถึงใส่ให้มันสวย ให้มันเกิดคุณค่า (ทั้งๆ
ที่มันมีคุณค่าอยู่แล้ว)
เวลาผ่านไปหลายเดือน
ผมไม่ได้ใส่กางเกงตัวใหม่ไปไหนเลย ที่เป็นเช่นนั้นมาจากสองสาเหตุ 1.ผมอ้วน
2.กางเกงตัวใหม่ไม่โดนใจเท่าตัวแรก
(คงเป็นเพราะความผูกพัน)
เวลาผ่านไปหลายเดือน ผมตัดสินใจคุยกับพี่น้อย
(พ่อตะกร้อผู้ออกแบบ) ว่าผมอยากเอากางเกงไปเปลี่ยน (ด้วยความเกรงใจ)
พี่น้อยบอกไปหาหลาน ไปเปลี่ยนเลย
เมื่อวานผมตัดสินใจไปสยาม ไปเปลี่ยนกางเกง
แต่โทษเถอะครับด้วยความชราวัยดันลืมกระเป๋าตังค์ไว้ที่บ้าน
ดีว่าในเป้มีเงินหลงเหลืออยู่ร้อยกว่าบาท เป็นร้อยกว่าบาทที่ส่งผมไปสยามสแควร์โดยปลอดภัย
ผมต้องเดินด้วยความระมัดระวัง
กลัวเดินไปชนอ่างกะปิล้มคว่ำคะมำหงายแล้วไม่มีเงินจ่าย
เลาะเลียบทางเท้าจากสถานีรถไฟจนถึงร้านที่สยามซอย 1
ในร้านมีชายหนุ่มคุ้นหน้า มีชายหนุ่มแปลกหน้า
และมีชายหนุ่มอีกคนก็แปลกหน้า คนคุ้นหน้าเป็นเพื่อนเจ้าของร้าน เขาบอกว่าตะกร้อไม่สบาย
วันนี้ไม่ได้มา ผมบอกว่าไม่เป็นไร แต่ให้ต่อสายคุยกันหน่อย
การสนทนาแสนสั้นผ่านไป
ความเข้าใจแสนยาวเข้าแทนที่ ผมเปลี่ยนกางเกง คราวนี้ได้รุ่นถูกใจ
เหมือนรุ่นแรกที่เคยใส่
ต่อไปนี้คงต้องปั้นยีนส์ตัวนี้ให้ย่นยับขยับรอยอย่างที่เคยทำและเคยเป็น
ก่อนจากจากลาผมยืนดูแจ๊คเก็ตยีนส์ตัวหนึ่ง
ผมมองมันมานาน มองตั้งแต่ร้านแรกกระทั่งย้ายมาอยู่ที่นี่
สัญญาว่าจะเป็นเจ้าของมันด้วยตังค์ตัวเอง
..................
"ตะกร้อ" หรือ "ธัชวีย์
สนธิระติ" ปัจจุบันเป็นนักออกแบบเสื้อผ้าแถวหน้าของเมืองไทย
ได้ทำงานร่วมกับดีไซน์เนอร์ชื่อดังของญี่ปุ่น ได้ร่วมงานออกแบบ (บางงาน) กับ Converse
เขาเป็นคนมีค่าหัว แบรนด์ดังต้องการตัว
เท่าที่ทราบเขายังคงดีไซน์งานตัวเองต่อไปตามบทวิถี
มีสิ่งหนึ่งที่ผมเฝ้ามองคืองาน ผมเฝ้าดูดีไซน์เนอร์ผู้นี้ทำงานแล้วตั้งคำถาม
เขามีทิศทางอย่างไรในวงการเสื้อผ้า? งานเท่ๆ
ที่เห็นและเป็นไปจะก้าวไปอยู่ตรงไหนบนบันไดงานออกแบบ? ผมเฝ้าดูในฐานะผู้เสพ
ไม่ใช่ฐานะญาติ
.................
หลังจากการเดินทาง+กางเกงยีนส์บทแรกโพสต์ในเฟสบุ๊ค
มีคนถามว่า "ทำไมถึงชอบ Indigoskin" และ
"Indigoskin มีอะไรดีถึงได้ลืมลีวายส์" ต้องบอกกันตรงนี้ ผมไม่ได้ลืมลีวายส์และไม่มีวันลืม
(ทุกวันนี้ยังใส่อยู่)
ส่วน Indigoskin มีอะไรดี
ไปค้นหากันเองครับ คือมันมีที่มาที่ไป เริ่มจากทรง ผ้า กระดุม เข็ม เครื่อง
ทุกเรื่องล้วนละเอียดอ่อน
ไม่เว้นแม้ป้ายหนังลายไทยซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ที่ผมภาคภูมิใจใน INDIGOSKIN
QUALITY OF SIAM
#โรคไร้สาระ
#โรคไร้สาระ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น